Monday, August 24, 2015

History of American Springer (เรื่องราวของระบบกันสะเทือน)

‘ระบบกันสะเทือน’ เป็นสิ่งที่ทำให้เราขี่รถมอเตอร์ไซค์แล้วไม่รู้สึกว่าเหมือนกับกำลังขี่ท่อนเหล็กติดล้อ
อย่างที่พวกเรารู้กันดีอยู่แล้วว่า รถมอเตอร์ไซค์เกิดขึ้นมาจากการนำเอารถจักรยานมาใส่เครื่องยนต์ให้วิ่งได้
โดยไม่ต้องออกแรงถีบ ซึ่งในช่วงแรกที่ยังไม่มีระบบกันสะเทือน ขี่จักรยานแล้วเป็นยังไง
มอเตอร์ไซค์ในยุคแรกก็เป็นแบบเดียวกัน

สำหรับรถมอเตอร์ไซค์สัญชาติ American ที่เริ่มต้นประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ต้นยุค 1900 ก็เช่นกัน ทั้ง HD และ
Indian ซึ่งเป็นสองแบรนด์ที่บ้านเรารู้จักกันดี ก็ได้นำเฟรมจักรยานมาติดตั้งเครื่องยนต์ และ
พัฒนาเรื่อยมาจนเริ่มมีระบบช่วงหน้าแบบ Springer ซึ่งเราจะเห็นได้จากรถมอเตอร์ไซค์ในยุคปี 1910 เป็นต้นมา
ที่เริ่มมีระบบกันสะเทือนด้านหน้า อย่างทาง HD ก็จะเป็น Springer แบบตะเกียบ 2 คู่ที่มีหลอดสปริง
ใส่อยู่กับแกนเหล็กพร้อมกระเดื่องด้านล่างเป็นจุดหมุน ส่วน Indian ก็ได้พัฒนาช่วงหน้าเป็นแบบ
Leaf Spring ที่ใช้ระบบแหนบแผ่นเหล็กมาเป็นตัวซับแรงกระแทก และได้ทดลองเอาระบบแหนบ
มาเป็นระบบกันสะเทือนด้านหลังเป็นครั้งแรกในปี 1913 ซึ่งเรียกว่า Cradle Spring Frame
โดยความแตกต่างของช่วงหน้าของทั้ง 2 ยี่ห้อนี้ นอกจากรูปแบบของตะเกียบและระบบซับแรง
ที่แตกต่างกันแล้ว ก็ยังมีจุดหมุนของกระเดื่องที่ทาง HD จะมีแกนล้ออยู่ด้านหน้า ส่วน Indian
จะมีตำแหน่งแกนล้ออยู่ด้านหลังของชุดแขนกระเดื่อง
1911 Harley-Davidson 7D Twin
Indian Cradle Spring Frame

ระบบช่วงหน้าแบบ Springer ของ HD และ Indian ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตะเกียบหน้าในรถยุค 1920
ก็จะดูแข็งแรงกว่ายุคเก่า แต่ก็ยังคงโครงสร้างของระบบช่วงหน้าที่ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมมากนั้น
จนมาถึงยุค 1930 ที่เราจะเริ่มเห็น Springer Frontend ที่ดูคุ้นตา อย่างทางฝั่ง HD ก็จะนำเอาช่วงหน้า
Springer มาใช้กับรถเครื่องยนต์แบบ Flathead  จนกระทั่งในปี 1936 ที่ HD ได้เปิดตัว EL
รถที่ใช้เครื่องยนต์ในแบบ Knucklehead เป็นครั้งแรก โดยเป็นการเปลี่ยนจากระบบเครื่องยนต์ที่ใช้ระบบ
Side Valve มาเป็นเครื่องยนต์ในแบบ OHV (Overhead Valve) และปรับปรุงหน้าตาของ Springer Frontend
ให้ดูทันสมัยขึ้น และเป็นต้นแบบของช่วงหน้าแบบ Springer ของ HD นับแต่นั้นเป็นต้นมา
1936 Harley-Davidson EL
1936 Harley-Davidson Knucklehead
1937 Harley-Davidson Knucklehead
1941-1947 Harley-Davidson Knucklehead

ทางฝั่ง Indian ก็มีการพัฒนาระบบช่วงหน้า Leaf Springer ให้แข็งแรงขึ้น โดยเอามาใช้กับรถทุกรุ่นของ Indian
อย่างตัว Scout, Chief และ Four จนมาถึงปี 1934 ที่ Indian ได้พัฒนาระบบกันสะเทือนหน้าแบบใหม่
ที่เรียกว่า Girder Fork ซึ่งเปลี่ยนระบบจากแหนบแบบเดิมที่เคยใช้ มาเป็นชุดสปริงที่สร้างระบบกระเดื่อง
ขนาดใหญ่มาไว้ด้านบนหัวเฟรม แทนที่จะมีจุดหมุนอยู่ด้านล่างบริเวณแกนล้อเหมือนกับรุ่นอื่นๆ
โดย Indian ได้นำระบบนี้มาใช้กับรถ Sport Scout เป็นครั้งแรก และเริ่มเอาช่วงหน้า Girder Fork
มาใช้กับ Indian Chief ในปี 1946 ส่วนระบบกันสะเทือนหลัง ก็ได้มีการพัฒนาระบบ Sprung Frame
ขึ้นในปี 1940 โดยเป็นการนำกระบอกสปริงมาติดตั้งที่เฟรมด้านหลัง เพื่อทำหน้าที่ดูดซับแรงกระแทก
ที่มาจากแกนล้อ และถูกนำมาใช้กับรถ Indian Chief และ Indian Four ซึ่งนับว่าแตกต่างจากรถยี่ห้ออื่น
ในยุคเดียวกันที่ยังคงเป็นระบบเฟรมแบบ Hard Tail
1940 Indian Sport Scout

เนื่องจากระบบช่วงหน้าแบบ Springer ที่ใช้สปริงเป็นตัวรับแรงกระแทก ก็ย่อมที่จะเด้งตามชื่อสปริง
การทำให้เกิดความหนืดในระบบสปริงเป็นสิ่งสำคัญ ในยุค Knucklehead ของทางฝั่ง HD
จึงได้มีการคิดค้นระบบที่เรียกว่า Friction Damper ซึ่งเป็นระบบที่ไม่มีความซับซ้อนใดๆ
เพียงแค่ใช้แผ่นเหล็กพร้อมกับน็อตที่บีบอัดให้เกิดความหนืด นำไปติดตั้งเข้ากับระบบสปริงเกอร์
เมื่อเวลาต้องการทำให้สปริงเด้งน้อยลง ก็บีบหัวน็อตทั้งสองข้าง หรือคลายออกเมื่อต้องการให้สปริงให้ตัวได้มากขึ้น

จนมาถึงปี 1946 HD ได้แนะนำระบบ Springer Frontend ตัวใหม่ที่ถอดเอาตัว Friction Damper
ออกแล้วเปลี่ยนมาเป็นระบบกระบอกโช้คที่เรียกว่า Monroe Shock Absorber เข้ามาแทนที่
ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของช่วงหน้าดีขึ้นกว่าเดิมมากเพราะไม่ต้องคอยบิดลูกบิดให้เกิดความหนืด
แต่ใช้หลักการหักล้างของสองสิ่งอย่างตัว Spring ที่เด้ง และ Shock Absorber ที่หนืดมาทำงานร่วมกัน
กระบอกโช้คหน้าแบบ Monroe Shock Absorber

ในปี 1948 เป็นจุดเริ่มต้นของเครื่องยนต์ในยุคถัดไปของ HD อย่างเครื่องยนต์ Panhead และถือว่าเป็นจุดสิ้นสุด
ของระบบกันสะเทือนหน้าอย่าง Springer ซึ่งในปีนี้ HD ได้แนะนำรถในรหัส FL ในขนาด 74 ลบ.นิ้ว
และ EL ที่มีขนาด 61 ลบ.นิ้ว โดยทั้งสองรุ่นก็ยังคงใช้ระบบ Springer Frontend
พร้อมด้วยกระบอกโช้คหน้าแบบ Monroe Shock Absorber

พอเริ่มเข้าสู่ปี 1949 ก็หมดยุคของ Springer ที่ใช้ในรถ HD โดยมีระบบ Hydra Glide
หรือช่วงหน้าแบบ Telescopic กระบอกโช้คพร้อมสปริงภายในเข้ามาแทนที่ ซึ่งในปีเดียวกัน
ทางฝั่ง Indian ก็ได้มีการนำเอารถที่มีระบบช่วงหน้าแบบ Aerodraulic ซึ่งเป็นระบบ Telescopic
เช่นเดียวกันมาใช้กับรถรุ่นเล็กที่นำเข้ามาจากฝั่งอังกฤษอย่าง Scout, Arrow, Warrior และ
นำมาใช้กับ Chief ในปี 1950 จนกระทั่งปิดตัวลงในปี 1953
1949 Harley Davidson EL 61 cubic-inch, 1000cc Hydra Glide.
1950 Indian Chief

เรื่องราวของระบบกันสะเทือนหน้าแบบ Springer จึงได้หายไปจากสายการผลิตของรถทางฝั่ง American
และต้องรอกันอีกหลายสิบปีถึงได้มีการนำกลับมาทำใหม่อีกครั้ง...
ขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล: hd-playground.com

No comments:

Post a Comment